ปารี ฮัท ‘พลเมืองดี’ บนเกาะสีชัง...
พวกเขาไม่ใช่นักลงทุน แต่ประกาศตนเป็น “พลเมืองดี” ของเกาะสีชัง
ที่จะทำธุรกิจบนความรับผิดชอบ ร่วมสร้างแม่เหล็กดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยวสีชัง
“ปารี ฮัท รีสอร์ท” คือโรงแรมบูติกที่มีชื่อเสียงบนเกาะสีชังที่นี่เคยเป็นฉากในภาพยนตร์ และละครดังหลายเรื่อง
ติด 1ใน 10เกาะที่ดีที่สุดของโลกสำหรับคู่ฮันนีมูน จาก The Guardian ของอังกฤษ 1 ใน 50 โรแมนติก รีสอร์ท,
1 ใน 100 เกาะที่ดีที่สุดของไทย โดย VOYAGE ได้รางวัลสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด โดย BAREFOOT
และยังคว้ารางวัลThe Winner Award for Basic Thematic Seaside จากโครงการประกวด Thailand Boutique Awards
ปี 2014-2015 โดย บมจ.บัตรกรุงไทย(เคทีซี) มาอีกด้วย
บางคนอาจรู้จักในฐานะรีสอร์ทรักษ์โลกกระท่อมริมผาจุดชมวิวที่สวยบาดใจ
ดินแดนแห่งความรักสถานที่บอกรักและเซอร์ไพรส์ขอแต่งงาน ฯลฯ
ทว่าไม่ว่าใครจะรู้จักพวกเขาในมุมไหนลองถามใจชาวปารีฮัทดูอาจได้คำตอบแค่..
“เราเป็น...พลเมืองดีบนเกาะสีชัง”
คำของ “พรรษพร หงศ์ลดารมภ์” แห่ง ปารี ฮัท รีสอร์ท ที่ประกาศชัดตั้งแต่เริ่มประกอบการบนเกาะสีชัง
เธอคือหนึ่งในสมาชิก“หงศ์ลดารมภ์” ตระกูลที่ได้ชื่อว่า มีที่ดินมากสุดบนเกาะสีชัง
ความเป็นพลเมืองสีชัง เลยชัดเจนมาตั้งแต่ตอนนั้น พอเริ่มมาคิดทำรีสอร์ท เมื่อปี 2554
ก็มีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า จะเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนที่นี่
“การเป็นพลเมืองดีอาจฟังดูเหมือนอุดมคติแต่จริงๆแล้วคือสิ่งที่ทุกคนมีอยู่ในตัวเป็นสิทธิและหน้าที่ซึ่งเราคิดว่า
ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสได้ทำหน้าที่พลเมืองดีบนเกาะสีชังเราจะทำให้ครบทุกด้านในแบบพลเมืองไม่ใช่นักลงทุน”
เธอบอก ‘ปฐมเหตุ’ ของ ปารี ฮัท ที่มีวิธีคิดแตกต่างจากรีสอร์ทอื่นอย่างเห็นได้ชัด
หน้าที่พลเมืองดี เริ่มตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้าไปเป็นพลเมืองสีชัง เธอบอกว่า
ก่อนก่อสร้างโครงการ ก็ไปดูว่า คนในชุมชน เขาทำอะไรกันอยู่บ้าง
แน่นอนว่า สิ่งที่ปารี ฮัทกำลังจะทำ ต้องไม่ไปกระทบเขา
“ตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้าไป เราไม่ซื้อรถ ไม่ว่าจะผู้บริหาร คนงานก่อสร้าง และทุกๆคน
จะเดินทางไปไหน เราจ้างคนในพื้นที่หมดเพราะมีรถบริการอยู่แล้วบนเกาะสีชัง
ฉะนั้นตั้งแต่วินาทีแรกที่เราคิดจะทำอะไร วินาทีนั้น ทำความดีได้เลย” เธอบอกหน้าที่พลเมืองดี
ถึงวันนี้ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เดิม โดยปารี ฮัท ไม่มีรถรับส่งลูกค้า ไม่มีรถส่วนตัว ไม่มีรถเช่า
หรือรถนำเที่ยวของรีสอร์ทบริการ แต่เลือกกระจายรายได้สู่ชุมชน
โดยเรียกใช้ สกายแลป สองแถว มอเตอร์ไซค์ ของคนในพื้นที่
“อย่าง รถมอเตอร์ไซค์ 1 คัน ค่าเช่า 300 บาท เท่ากับเขาเลี้ยงครอบครัวเขาได้ 1 ครอบครัวแล้ว
ซึ่งถ้าครอบครัวเขาอยู่ดีกินดี พ้นภาวะวิกฤติเรื่องปากท้อง เขาก็จะคิดดีทำดีต่อไป
โดยไม่ต้องทำไม่ดีเพราะความจำเป็น เราเชื่อว่า คนทุกคนเกิดมาอยากเป็นคนดีหมด
แต่เราจะมีโอกาส หรือมีหนทางให้เขาไหม” เธอย้ำ
แม้แต่กิจกรรมที่ให้บริการ ก็เลือก “คิดต่อยอด” ไม่ไปทำซ้ำซ้อนกับกิจกรรมที่ชุมชนทำอยู่แล้ว
อย่างเช่น เลือกจะไม่ทำบริการพาเที่ยวรอบเกาะ กิจกรรมตกปลา ตกหมึก ฯลฯ เพราะมีให้ใช้บริการอยู่แล้วในชุมชน
แต่สร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ อย่าง เป็นศูนย์เรียนรู้ สอนดูดาว กระโดดน้ำ โหนสลิง หรือบอกรักที่ผาประกาศรัก ฯลฯ
“ชื่นชมคำว่า ต่อยอด ไม่ใช่ Monopoly (ผูกขาด) การต่อยอดแบบผูกขาดกับต่อยอดเพื่อการกระจายความเจริญมันต่างกัน
ในมุมมองของ ปารี ฮัท เราจะไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นทำอยู่แล้ว แต่จะไปทำในสิ่งที่เขายังไม่ทำ
แล้วไปช่วยให้มีภารกิจในการที่เขาจะไปรองรับตรงนั้นได้ โดยมีคอนเซ็ปท์ตั้งแต่แรก คือ ปารี ฮัท สร้างสรรค์ สีชังยั่งยืน”
นั่นคือเหตุผลที่ เป้าหมายตั้งแต่ต้นของการก่อตั้งรีสอร์ท คือการเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนมาท่องเที่ยวเกาะสีชัง
โดยทุกครั้งที่ต้องสื่อสารจุดขายอะไรออกไป แม้แต่ความเป็นที่สุดของทิวทัศน์ ก็ไม่เลือกใช้ว่า..
“ปารี ฮัท มีวิวสวยที่สุด” แต่จะใช้ “เกาะสีชัง..มีวิวที่ดีที่สุดในโลก” นั่นคือหน้าที่พลเมืองดีที่พวกเธอได้ทำให้เห็น
ประตูรีสอร์ทของ ปารี ฮัท ไม่ได้ปิดกั้นให้เฉพาะลูกค้าที่เข้ามาพักเท่านั้น
แต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เปิดให้กับนักท่องเที่ยวจากภายนอกด้วย
เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามจาก ปารี ฮัท ได้
“มีความรู้สึกว่า ที่สวยๆ หลายที่ในประเทศไทย คนเข้าไม่ถึง เพราะเขาปิดประตูหมด แต่ถ้าเราเปิดไว้สักบางส่วน เพื่อเป็นแม่เหล็กให้สังคมตรงนั้น เวลาคนเดินทางมา ชาวบ้านก็จะได้ขายของ ขายอาหาร ได้บริการรถรับส่ง และให้บริการต่างๆ กว่าเขาจะมาถึงเรา ก็กระจายความเจริญ กระจายรายได้ให้เกิดขึ้นแล้ว” เธอสะท้อนมุมคิด
ปารี ฮัท มีห้องพักแค่ราว 30 ห้อง แน่นอนว่าคงรองรับลูกค้าทั้งหมดที่ไปเที่ยวเกาะสีชังไม่ได้ ฉะนั้นเป้าหมายของการเป็นแม่เหล็ก ก็เพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว ให้ไหล่บ่าไปสู่ผู้ประกอบการรายอื่นบนเกาะ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
“คอนเซ็ปท์นี้เรียกว่า ‘การรินน้ำให้ล้นแก้ว’ โดยเราจะทำหน้าที่เป็นน้ำล้นแก้ว แต่รินไม่หยุด เพื่อให้ไหลบ่า กระจายไปทั่ว อย่างก่อนหน้านี้ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง พอมีการท่องเที่ยวเข้าไป เขาก็มีอาชีพเพิ่มขึ้นมา เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเขา” เธอบอกผลจากการไหลล้นของน้ำ
วันนี้พลเมืองดี ไม่ได้ทำหน้าที่แบบโดดเดี่ยว แต่เลือกใช้โมเดล “ประชารัฐ” ขยายขอบเขตการทำงานให้กว้างขึ้น
เช่น ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เกาะสีชัง
ทำโครงการ “จุฬาฯ-ปารี ฮัทเมนูมหัศจรรย์ หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทย" โดยนำหอยเป๋าฮื้อที่เพาะเลี้ยงได้ในไทย
มาพัฒนาเป็น 7 เมนูเด็ด เพื่อร่วมโปรโมท หอยเป๋าฮื้อสายพันธุ์ไทย ให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
จากความร่วมแรงร่วมใจ ผ่านมิตรภาพที่ดีของคนในพื้นที่ ทำให้จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว
ที่ไปเยี่ยมเยือนเกาะสีชัง จากปี 2554 ที่มีอยู่ประมาณ 8.5 หมื่นคนต่อปี
ค่อยๆเติบโตขึ้น จนปัจจุบันมีสูงถึงกว่า 6 แสนรายต่อปีแล้ว
ส่วน ปารี ฮัท ก็ยังมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อถามถึงสิ่งที่ยังอยากทำ เธอบอกแค่..มีอีกเยอะมาก
“เราเชื่อว่า ความดีไม่มีสิ้นสุด ต่อให้เป็นเรื่องซ้ำ ก็ต้องทำเพิ่มอยู่ดี เพิ่มเพื่อให้มากขึ้น ดีขึ้น และกว้างขึ้น
ดูอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9พระองค์ท่านทรงงานมาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังไม่จบ เพราะความดี..ไม่มีที่สิ้นสุด”
ส่วนการทำความดี ในฐานะพลเมืองที่ดี เธอว่า ให้เริ่มจากสังคมเล็กๆ ที่เราอยู่
ถ้าทุกคนคิดว่าจะทำสังคมใกล้ตัวเราให้ดี คิดดี พูดดี ทำดี ทุกอย่างจะเชื่อมถึงกันเอง
เหมือนทฤษฎี “ผีเสื้อขยับปีก” มันมีผลกระทบซึ่งกันและกันทั้งนั้น
เหมือนปีกเล็กๆ ของผีเสื้ออย่าง ปารี ฮัท ที่พร้อมขยับพัดความเจริญ ให้กับผู้คนบนเกาะสีชัง
ขอขอบคุณสาระดีดีจาก : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/729849